เมื่อความมั่นคงในชีวิตเป็นสิ่งที่คนเราตามหา ประกอบกับโลกที่หมุนไปไวขึ้น เรามีโอกาสได้เห็นชีวิตและความก้าวหน้าของคนวัยเดียวกันเยอะขึ้น จึงเกิดวิกฤตในช่วงวัยที่หลาย ๆ คนอาจต้องเผชิญ อย่างเช่น ภาวะ Mid-Life Crisis (วิกฤตวัยกลางคน) เกิดขึ้นในวัยของคนอายุ 40 ขึ้นไป เป็นภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือเผชิญกับความผิดหวังเมื่อไม่สามารถทำตามเป้าหมายชีวิตได้ นอกจากนั้น ดูเหมือนว่าคนที่อายุน้อยกว่า ตั้งแต่ช่วงหลังเรียนจบไปจนถึงช่วง 30 ปี ต่างก็เผชิญกับความเครียด ความกังวล ความกดดันต่าง ๆ ที่รู้สึกว่าตนเองต้องรีบสำเร็จเช่นกัน เราเรียกภาวะเช่นนี้ว่า Quarter-Life Crisis (วิกฤตหนึ่งในสี่) ครับ MenDetails อยากให้คนที่อยู่ในช่วงวัยนี้ได้ลองสำรวจตัวเองว่าเรากำลังเผชิญกับความรู้สึกของวิกฤตเหล่านี้อยู่หรือไม่ และทำอย่างไรจึงจะผ่านไปด้วยดี
รู้จักกับวิกฤต Quarter-Life Crisis
Quarter-Life Crisis หรือในภาษาไทยอาจเรียกว่าวิกฤตหนึ่งในสี่ (¼) เป็นวิกฤตของความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิตครับ ช่วงที่ต้องเผชิญกับความเครียด การตามหาตัวตนและความหมายของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการงานอาชีพ การเงินหรือความสัมพันธ์ก็ตาม ซึ่งมักจะเกิดในช่วงคนอายุ 20s – 30s ไม่ได้มีตัวกำหนดเป๊ะ ๆ ว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ บางคนอาจเผชิญวิกฤตนี้ตั้งแต่เพิ่งเรียนจบ เริ่มทำงานไม่นาน หรืออาจไปรู้สึกอีกทีช่วง 30 ไปจนถึง 30 กว่าก็เป็นไปได้เช่นกัน อาจเรียกได้ว่าเป็นวิกฤตของคนที่กำลังเริ่มก่อร่างสร้างตัวนั่นล่ะครับ
โดยทั่วไปวิกฤตเหล่านี้ จะประกอบไปด้วย 4 stage เริ่มต้นด้วยความรู้สึกว่าตัวเองติดกับดัก (trapped) อะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นงาน ความสัมพันธ์ การทำสัญญาใด ๆ ที่ไม่มั่นใจในตัวเลือกที่ตนเองมีอยู่ หลังจากนั้นหากเผชิญกับเหตุการณ์ที่ต้องแยกจาก เช่น เกิดปัญหาการงานติดขัด บริษัทล้มละลาย โดน Lay off สูญเสียรายได้ที่เคยมีไป หรือเกิดการต้องโยกย้ายที่อยู่ ที่ทำงาน ย้ายบ้านแล้วต้องเปลี่ยนจากกลุ่มสังคมเดิม หรือต้องอยู่ไกลจากคนรัก ทั้งหมดนี้ก็ส่งผลต่อการเผชิญวิกฤตหนึ่งในสี่ได้ทั้งสิ้น
แต่สเตจถัดมาเมื่อเราเผชิญความรู้สึกหรือเหตุการณ์แย่ ๆ มาแล้ว เราก็จะไปสู่ขั้นที่ต้องทบทวนตัวเอง ไตร่ตรองว่าแท้จริงแล้วชีวิตเราต้องการอะไร และขั้นสุดท้ายคือทำความเข้าใจสิ่งที่เราเผชิญอยู่ โดยอาจต้องอาศัยการปรับมุมมอง หรือค้นหาแรงจูงใจใหม่ ๆ เพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นนั่นเอง
รู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังเผชิญวิกฤตหนึ่งในสี่ ?
หากใครอยู่ในช่วงวัย 20s – 40s แล้วรู้สึกตัวเองประสบความเครียด ความกังวลใจบ่อย ๆ ส่วนใหญ่แล้วเกี่ยวกับความมั่นคงในชีวิต การสร้างตัว ลองมา Checklist ตัวเองกันดีกว่าครับว่าเราเคยผ่านเหตุการณ์หรือความรู้สึกเหล่านี้มาบ้างไหม หากประกอบด้วยหลายข้อจะได้เข้าใจว่าสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้นเป็นเรื่องปกติของช่วงวัยที่คนอื่นก็กำลังประสบอยู่เช่นเดียวกัน
ความรู้สึกที่ค่อนข้างเด่นชัดที่สุด คงเป็นความรู้สึก ‘หลงทาง’ รู้สึกว่าตัวเองไม่รู้จะไปทางไหนทั้งในเรื่องงาน ความสัมพันธ์และเป้าหมายในชีวิต
คนที่เผชิญกับวิกฤตนี้ ในด้านเป้าหมายของชีวิต มักตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘คุณค่าของชีวิตคืออะไร’ ความต้องการที่แท้จริงของตัวเองคืออะไร เราควรใช้ชีวิตอย่างไร มีความกังวลใจระหว่าง ‘อยากไล่ตามความฝัน’ กับ ‘อยู่แบบนี้ก็ดีแล้ว’ เพราะเป็น Safe zone ที่สบายใจ บางครั้งก็เปรียบเทียบตัวเองกับคนรอบข้างว่า สิ่งที่สังคมให้ความสำคัญไม่ตรงกับสิ่งที่ตัวเราให้ความสำคัญ
ในด้านการงานและความมั่นคง เวลาที่เห็นคนใกล้ตัวประสบความสำเร็จเรื่องการงานหรือการเงิน อาจจะเกิดความไม่มั่นใจในตัวเองขึ้นมา ไม่มั่นใจว่าตัวเองสามารถทำได้หรือไม่ มีความกลัวว่าอาจถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในขณะทุกคนก้าวหน้า แต่เราย่ำอยู่กับที่
หรือบางคนอาจรู้สึกติดกับดักของช่วงวัยที่ต้องเลือกระหว่าง ‘การออกไปใช้ชีวิตในแบบที่อยากใช้’ กับ ‘ต้องตั้งใจทำงานเพื่อความมั่นคงในอนาคต/ในวัยเกษียณ’ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วหากมีภาระที่ต้องรับผิดชอบ คนก็มักต้องตัดสินใจเลือกทางที่มีเงินเดือนหรือรายได้ที่พอจะสร้างความมั่นคงในชีวิตได้บ้าง แต่นั่นก็อาจนำไปสู่ปัญหาอีกหนึ่งข้อ คือ งานที่ทำอยู่ไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตขนาดนั้น แต่ก็ว่าลาออกไม่ได้เพราะต้องรับเงินเดือนจากที่นี่อยู่ ความมั่นคงทางการงานและการเงินค่อนข้างจะแปรผันตรงเลยล่ะครับ
ในขณะที่ด้านความสัมพันธ์ก็เป็นวิกฤตอีกหนึ่งด้านที่คนวัย 20s – 30s มักต้องเผชิญ เมื่อคนรอบตัวทยอยแต่งงานมีครอบครัวกันไปทีละคน หลายคนจะเริ่มกลับมามองตัวเองว่าเราต้องทำอย่างไรต่อ บางคนไม่รู้ว่าอยากมีครอบครัวจริง ๆ ไหมก็อาจรู้สึกต้องการขึ้นมาชั่วขณะเพราะเห็นคนอื่นมี ประกอบกับอายุที่เพิ่มมากขึ้นอาจทำให้ครอบครัวคาดหวังว่าเราน่าจะต้องแต่งงานในอายุเท่านั้นเท่านี้อีกด้วย
หรือบางอาจรู้ตัวอยู่แล้วว่าอยากแต่งงาน แต่ยังไม่เจอคนที่ไม่เหมาะสมเสียที หรือมีคนที่รักอยู่แล้วแต่ด้านการเงินยังไม่พร้อมเสียทีก็อาจทำให้เกิดความเครียดขึ้นมาได้เช่นกัน ส่วนคนที่ยังไม่ถึงวัยที่รู้สึกว่าต้องแต่งงาน ก็อาจจะต้องเผชิญกับความรู้สึกว่า ไม่รู้ควรจะจริงจังกับความสัมพันธ์ในช่วงอายุเท่าไหร่ ยังคุยเล่น ๆ ต่อไปได้ไหม หรือจำเป็นต้องมองหา serious relationship แล้ว?
และทั้งหมดทั้งมวลนั้น อาจส่งผลให้เราเกิดความเครียด ภาวะซึมเศร้าร่วมด้วยก็เป็นได้เช่นกันครับ ภาวะหมดไฟในการทำงานหรือการใช้ชีวิตก็เป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตของวัยนี้ หากต้องเผชิญกับช่วงที่อารมณ์ Down อย่างที่ปกติไม่เคยเป็นมาก่อนก็ไม่ต้องตกใจไปนะครับ พยายามพูดคุยกับตัวเองและคนรอบข้าง รู้เท่าทันอารมณ์ หาสาเหตุให้เจอว่าเรารู้สึกแย่เพราะอะไรก็จะทำให้ผ่านไปได้ง่ายขึ้น
ทำอย่างไรให้ผ่านวิกฤตชีวิตนี้ไปได้
หากลอง Checklist จากข้อที่แล้วดูแล้วพบว่ามีหลายข้อเลยที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่ มาดูกันต่อดีกว่าว่าเราต้องทำอย่างไรถึงจะผ่านวิกฤต Quarter-Life Crisis ไปได้ ให้เริ่มต้นจากทำใจให้เข้าใจเสียก่อนว่า นี่เป็นสถานการณ์ปกติที่เกิดขึ้นได้ในช่วงวัยนี้ ไม่ได้ผิดแปลกและเราไม่ใช่คนเดียวที่กำลังเผชิญกับวิกฤตนี้ คนอื่น ๆ ก็อาจกำลังเผชิญอยู่เช่นกัน เพียงแต่ว่าจะแสดงออกมาในรูปแบบไหนเท่านั้นเอง
หนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้หลายคนรู้สึกแย่ มักจะเกิดจากการเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ดังนั้นสิ่งที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง คือ การตัดปัจจัยเรื่องคนอื่นออกไปให้ได้มากที่สุดครับ เช่น ปรับลดการเสพ Social Media หากเห็นชีวิตคนอื่นแล้วเรากลับมารู้สึกแย่กับตัวเองก็ลองเสพให้น้อยลง เอาเวลานั้นไปใช้ในการ Entertain ตัวเองในแบบอื่นแทน
ควรทำความเข้าใจว่าจริง ๆ แล้วสิ่งที่อยู่ในโซเชียล เป็นสิ่งที่ผู้คนต่าง ‘คัดเลือกแต่ด้านดี ๆ’ ออกมาโชว์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารแพง ๆ ไปทำกิจกรรมแบบไลฟ์สไตล์คนมีเงิน ซื้อรถคันใหม่ ซื้อบ้านใหม่ อัพเดทสถานะความสำเร็จเรื่องงาน ซึ่ง MenDetails มองว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่การสร้างภาพ แต่เป็นการคัดเลือกตัวตนที่จะให้คนอื่นมองเห็น จึงไม่แปลกที่จะมีแต่ด้านดี ๆ ส่วนด้านที่ insecure หรือทุกข์ใจ คนก็มักเก็บไว้บอกเล่ากับคนใกล้ตัว ฉะนั้นแม้ว่าจะเห็นคนอื่นชีวิตดีแค่ไหน ก็รำลึกไว้ได้เสมอว่านั่นเป็นเพียงด้านเล็ก ๆ ที่ได้เราเห็น
ถัดมาควรจะเป็นขั้นของการปรับใจตัวเอง โดยให้เวลาตัวเองในการพูดคุยและทบทวนความรู้สึกที่เกิดขึ้น อาจจะเป็นช่วงของการหาคำตอบให้ชีวิตว่าอะไรทำให้เรามีความสุข คุณค่าของเราอยู่ตรงไหน โดยให้ความสำคัญกับความรู้สึกของตัวเองเป็นหลัก ไม่ต้องคิดว่าสังคมมองอย่างไร เราต้องการอะไร เราชอบอะไร จุดอ่อนจุดแข็งของตัวเองที่ปรับปรุงและพัฒนาได้คืออะไรบ้าง เมื่อเข้าใจตัวเองมากขึ้นแล้วค่อยเริ่มจัดลำดับความสำคัญในชีวิตว่าควรเรียงลำดับอย่างไร ทำอะไรก่อน-หลัง
และสุดท้ายอย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง หากชีวิตที่เป็นอยู่ปัจจุบันมัน Toxic กับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานที่ไม่ตอบโจทย์ อาจเกิดจากเรื่องคนที่ร่วมงานด้วย เนื้อหาของงาน หรือเงินเดือนที่ได้รับกับเนื้อหาไม่สัมพันธ์ หรือจะเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่รู้สึกติดขัดมีปัญหา แต่ไม่กล้าพูดออกไปเพราะกลัวมีปากเสียง กลัวเลิกรา เพราะบางครั้งการที่เราเลือกจะทำตัวเหมือนเดิม มันอาจไม่สามารถพาเราไปถึงเส้นชัยของชีวิตที่เราต้องการได้ เราต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง กล้าไปยังสเต็ปถัดไปของชีวิต
หากคุณกำลังเผชิญกับวิกฤตของชีวิตในช่วงอายุ 20 กว่าจนถึง 30 กว่านี้ MenDetails ก็อยากส่งกำลังใจและอยากให้ทุกคนเข้าใจว่า ใคร ๆ ต่างก็เผชิญช่วงเวลาเหล่านี้กันทั้งนั้น เพียงแค่การรับมือและการแสดงออกต่อความเครียดที่มีแตกต่างกันไปเท่านั้นเองครับ เมื่อต้องการความมั่นคงในชีวิตในทุก ๆ ด้าน เราก็ต้องดำเนินชีวิตอย่างมีสติเสมอ แต่อย่าลืมว่าการวางแผนชีวิต ควรประกอบคู่ไปกับการรู้จักมีความยืดหยุ่นด้วย แม้บางครั้งเราจะไม่ได้บรรลุเป้าหมายชีวิตทุกข้อที่เราตั้งไว้ แต่ก็อย่าลดคุณค่าในตัวเองเพียงเพราะเราไปไม่ถึงนะครับ ระหว่างทางนั้นมีความพยายามที่มีความหมายอยู่มากมายทีเดียว