สำหรับเหล่านักดื่มและผู้โปรดปรานเครื่องดื่มซิงเกิ้ลมอลต์ ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่หรือรุ่นเก๋า น่าจะเคยได้ยินเกี่ยวกับแหล่งผลิตเครื่องดื่มซิงเกิ้ลมอลต์ของ Scotland ที่มีหลากหลายภูมิภาค และแต่ละภูมิภาคก็มีเอกลักษณ์หรือจุดเด่นต่างกันไป ในวันนี้ MenDetails อยากชวนทุกท่านออกเดินทางสำรวจ ซิงเกิ้ลมอลต์ตามภูมิภาค ไปกับเรา ว่าแต่ละเขตนั้นมีอะไรบ้าง มีจุดเด่นอย่างไรที่สามารถมัดใจนักดื่มได้อยู่หมัด และหาคำตอบว่าทำไมเขตที่เรียกว่า Speyside ถึงกลายเป็นรสชาติ “พิมพ์นิยม” ที่ครองใจคนส่วนใหญ่ได้ ถ้าพร้อมแล้วมาท่อง Scotland ไปกับเรากันครับ
รู้จักภูมิภาคในการผลิต Single Malt ของ Scotland
ใน Scotland มีกฎหมายที่ดูแลเรื่องการผลิตเครื่องดื่มมอลต์ที่เรียกว่า Scotch Whisky Regulations 2009 ที่มาควบคุมเรื่องการผลิตและการให้ข้อมูลบนฉลากขวดอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการปลอมแปลง และตามกฎหมายนี้ได้กำหนดพื้นที่ หรือภูมิภาคในการผลิตซิงเกิ้ลมอลต์ออกเป็นทั้งสิ้น 5 ภูมิภาค คือ Highlands, Speyside, Lowlands, Campbeltown และ Islay แต่หลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อภูมิภาคที่ 6 เพิ่มมาด้วย นั่นคือ Island
ความน่าสนใจ คือ Island ตามกฎ Scotch Whisky Regulations 2009 แล้ว มันไม่ถูกยอมรับเป็นภูมิภาคในการผลิตซิงเกิ้ลมอลต์ และเครื่องดื่มที่ผลิตในเขตนี้จะถูกนับเป็นเครื่องดื่มจากเขต Highlands แทน แต่สำหรับนักดื่มทั้งหลายแล้ว ภูมิภาค Island นี้ถือเป็นอีกหนึ่งภูมิภาคที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง มีโรงกลั่นขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงหลายโรง ยังเป็นการแบ่งพื้นที่ตามภูมิภาคของ Scotland ได้ง่ายกว่าด้วย
ภูมิภาคต่าง ๆ ในการผลิตซิงเกิ้ลมอลต์ของ Scotland ที่เราพูดถึงนี้ มีความแตกต่างกันอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของลมฟ้าอากาศ เรื่องปัจจัยทางภูมิศาสตร์ต่าง ๆ ที่ส่งผลในการปลูกข้าว ไปจนถึงแร่ธาตุในน้ำ ทั้งหมดส่งผลต่อการผลิตซิงเกิ้ลมอลต์ ทำให้รสชาติและกลิ่นอายของซิงเกิ้ลมอลต์ที่ผลิตในภูมิภาคที่ต่างกัน มีเอกลักษณ์แยกจากกันจนสัมผัสได้ ไม่ต่างอะไรกับไวน์ที่ถ้าพูดถึงแหล่งปลูกองุ่นและพันธุ์องุ่นที่ใช้ในการหมักไวน์ เหล่านักดื่มไวน์ทั้งหลายก็พอจะสามารถคาดเดารสชาติหรือความรู้สึกในการดื่มไวน์ขวดนั้น ๆ ได้ การที่ซิงเกิ้ลมอลต์ขวดนั้น ๆ บอกว่ามาจากภูมิภาคไหนก็ทำให้เราพอคาดเดากลิ่นอายของมันได้ก่อนดื่มเช่นกัน
รู้จักกับรสชาติและเอกลักษณ์ของ ซิงเกิ้ลมอลต์ตามภูมิภาค
เมื่อรู้จักชื่อของภูมิภาคในการผลิตซิงเกิ้ลมอลต์กันไปแล้ว เราก็จะพาทุกท่านเดินทางไปทีละภูมิภาคเพื่อไปเรียนรู้รสชาติและกลิ่นอายซิงเกิ้ลมอลต์ที่มาจากภูมิภาคนั้นคร่าว ๆ กันครับ
Island
ภูมิภาคแรกที่เราจะไป คือ Island ภูมิภาคนี้จะรวมพื้นที่ที่เป็นเกาะทั้งหมดของ Scotland ไว้ในหมวดหมู่เดียวกัน (ยกเว้นเกาะ Islay) ที่แม้จะไม่ได้รับการยอมรับตามกฎ Scotch Whisky Regulations 2009 แต่สำหรับนักดื่ม Island ก็ถือเป็นอีกหนึ่งภูมิที่มีกลิ่นอายต่างไปจาก Highlands ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเชิญชวนให้ได้สัมผัส
เนื่องจาก Scotland มีจำนวนเกาะเล็กเกาะน้อย ทั้งที่มีคนอาศัยและไม่มีอยู่มากกว่า 800 เกาะ ตั้งแต่ทิศเหนือจรดใต้ ทำให้รสชาติและกลิ่นอายของซิงเกิ้ลมอลต์ในภูมิภาคนี้มีความหลากหลายมากกว่าภูมิภาคอื่น แต่สิ่งที่มีคล้ายกันคือกลิ่นอายของน้ำทะเลจากภูมิประเทศที่เป็นเกาะ และกลิ่นพีต (peat) จาง ๆ
ในแถบ Island มีโรงกลั่นอยู่จำนวนไม่มาก ส่วนใหญ่จะมีแค่เกาะละโรงหรือสองโรง และโรงกลั่นที่เรียกได้ว่าเป็นตัวแทนและความภูมิใจของภูมิภาคนี้ คือ Talisker โรงกลั่นเก่าแก่บนเกาะ Skye ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1930 และเป็นซิงเกิ้ลมอลต์ที่คลาสสิกและแสดงกลิ่นอายของภูมินี้ได้อย่างดีเยี่ยม
Highlands
นี่เป็นภูมิภาคการผลิตซิงเกิ้ลมอลต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของ Scotland ล้อมรอบภูมิภาค Speyside มีโรงกลั่นมากเป็นอันดับต้น ๆ ของ Scotland ด้วยพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ทำให้ซิงเกิ้ลมอลต์ที่ผลิตในภูมิภาคนี้มีเอกลักษณ์หรือกลิ่นอายพิเศษของแต่ละโรงกลั่นต่างกันไป ในขณะที่ทางเหนือเราจะพบกับซิงเกิ้ลมอลต์ที่มีสัมผัสหนักแน่น ทางด้านใต้จะมีสัมผัสที่เบากว่า และบริเวณที่ติดชายฝั่งก็จะมีกลิ่นอายทะเลและพีต โดยปกติแล้วภูมิภาคนี้จะมีการจัดหมวดหมู่ของซิงเกิ้ลมอลต์แยกลงไปอีกตามภูมิภาคย่อย ที่จะจัดกลุ่มของรสชาติได้ง่ายกว่า
แม้รสชาติและเอกลักษณ์จะมีความหลากหลาย แต่ซิงเกิ้ลมอลต์จากภูมิภาคนี้ก็ยังมีลักษณะบางอย่างร่วมกัน โดยมันจะมีความหวาน ความ Fruity ความ Malty และอาจจะมีความเผ็ดอยู่ด้วย
Campbeltown
ในอดีตพื้นที่เล็ก ๆ นี้เคยรุ่งเรืองด้วยโรงกลั่นมากกว่า 30 โรง เป็นเมืองหลวงของซิงเกิ้ลมอลต์ที่เป็นจุดหมายปลายทางของเหล่านักดื่ม แต่ปัจจุบันเหลือโรงกลั่นที่ยังผลิตซิงเกิ้ลมอลต์อยู่แค่ 3 โรงเท่านั้น ภูมิภาคนี้แม้จะอยู่ในส่วนของ Mainland แต่เพราะเป็นพื้นที่ที่ยื่นออกมาจึงมีความใกล้ชิดกับภูมิภาค Island และ Islay มากกว่าใคร
ในส่วนของรสสัมผัส แม้จะมีโรงกลั่นเหลือแค่ 3 โรง แต่ทั้ง 3 โรงนี้ทำการผลิตซิงเกิ้ลมอลต์ที่แตกต่างกันอย่างมาก แต่ซิงเกิ้ลมอลต์ในภูมิภาคนี้เป็นที่รู้จักในเรื่องความ Dry และความเผ็ด โดยที่ซ่อนกลิ่นอายของทะเล กลิ่นผลไม้ กลิ่นหญ้าและกลิ่นพีตเอาไว้ ขึ้นอยู่กับแต่ละโรง
Lowlands
ถ้าทิศเหนือของเกาะมี Highlands เป็นภูมิภาคใหญ่ ทางครึ่งล่างของ Scotland ก็มี Lowlands เป็นภูมิภาคใหญ่ โดยมีความใหญ่เป็นอันดับสองของภูมิภาคทั้งหมด แต่กลับมีโรงกลั่นอยู่เพียงไม่กี่โรงเท่านั้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าซิงเกิ้ลมอลต์ของที่นี่จะรสชาติและกลิ่นอายสู้ที่อื่นไม่ได้นะครับ
เครื่องดื่มมอลต์ที่ผลิตในภูมิภาคนี้จะมีความเบาของรสสัมผัสและไม่มีกลิ่นอายของพีต แต่จะมีกลิ่นของหญ้าและดอกไม้มาทดแทน ปกติแล้วเครื่องดื่มที่ผลิตในภูมิภาคนี้จะถูกนำไปทำเป็นแบบ “เบลนด์” เสียมากกว่า แต่ก็ยังมีซิงเกิ้ลมอลต์ที่เป็นหน้าเป็นตาและเป็นที่นิยมของนักดื่มอยู่ด้วยเช่นกัน หนึ่งในนั้น คือ Glenkinchie โรงกลั่นที่อยู่ไม่ไกลจาก Edinburgh นัก เป็นโรงกลั่นที่มีบันทึกว่าเปิดมาตั้งแต่ปี 1837 ขึ้นชื่อเรื่องของความหอมจากกลิ่นดอกไม้และหญ้าแห้ง กับกลิ่นอาย Nutty เบา ๆ
Islay
เกาะเล็ก ๆ เกาะนี้มีความผูกพันกับการผลิตเครื่องดื่มมอลต์มาอย่างยาวนานและเหนียวแน่น การท่องเที่ยวและรายได้หลักส่วนหนึ่งของคนในเกาะก็มาจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเครื่องดื่มมอลต์กลั่นนี่ล่ะครับ และแม้จะเป็นพื้นที่เล็กที่สุดในบรรดาภูมิภาคทั้งหมด แต่กลับมาโรงกลั่นตั้งอยู่มากมายในพื้นที่นี้ เอกลักษณ์สำคัญของภูมิภาคนี้อยู่ที่กลิ่นควันของพีต สัมผัสอ่อน ๆ จากน้ำทะเลและสาหร่าย
ถ้าให้พูดถึงโรงกลั่นที่มีชื่อเสียงของภูมิภาคนี้ หนึ่งในนั้นต้องเป็น Lagavulin อย่างแน่นอน เป็นโรงกลั่นที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1816 และทำการผลิตซิงเกิ้ลมอลต์มานับแต่นั้น ท่ามกลางการแข่งขันกับโรงกลั่นอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้ ๆ กัน การที่โรงกลั่นนี้สามารถอยู่มาจนถึงปัจจุบันและกลายเป็นหนึ่งในผู้ผลิตซิงเกิ้ลมอลต์ที่ครองใจคนทั่วโลก คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญอย่างแน่นอน
Speyside
เดินทางมาถึงภูมิภาคสุดท้ายที่เชื่อว่าหลาย ๆ คนน่าจะคุ้นหูมากที่สุด นั่นก็เพราะที่นี่มีเครื่องดื่มมอลต์กลั่นเป็นหัวใจหลักของการท่องเที่ยวและเป็นสิ่งที่คนในภูมิภาคนี้ภาคภูมิใจ ภูมิภาคนี้ได้ชื่อว่ามีความอุดมสมบูรณ์จากแม่น้ำ Spey มีการผลิตเครื่องดื่มมอลต์กลั่นมากที่สุดใน Scotland ด้วย ด้วยความอุดมสมบูรณ์และรสชาติ รสสัมผัสที่เป็นเอกลักษณ์ทำให้มันถูกแยกออกมาจากภูมิภาค Highlands ที่ล้อมรอบอยู่
ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ทำให้รสสัมผัสของซิงเกิ้ลมอลต์ที่ผลิตในภูมิภาคนี้เหมาะกับการเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับมือใหม่ที่อยากเข้าวงการ ซิงเกิ้ลมอลต์ที่ผลิตที่นี่ขึ้นชื่อในเรื่องของความหวานที่อาจจะมีกลิ่นพีตซ่อนอยู่เล็กน้อย คู่ไปกับกลิ่นของดอกไม้ ผลไม้ น้ำผึ้งและเครื่องเทศ ด้วยรสชาติที่หลากหลายนี้ทำให้มันกลายเป็นรสสัมผัสที่ครบเครื่อง และกลายเป็น “พิมพ์นิยม” ของซิงเกิ้ลมอลต์ไป
และหนึ่งในซิงเกิ้ลมอลต์ที่ดีที่สุดในภูมิภาคนี้ คือ The Singleton ที่แม้คนไทยอาจจะไม่คุ้นหู แต่ทางฝั่งตะวันตกและผู้ที่ชื่นชอบซิงเกิ้ลมอลต์นั้นชื่อนี้รับประกันคุณภาพว่าไม่ผิดหวัง เพราะมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์และได้รับการยอมรับในระดับโลกรายการต่าง ๆ รางวัลที่โดดเด่น เช่น รายการ The San Francisco World Spirits Competition 2020 ได้รับรางวัล Double Gold Award 4 รางวัล และ Silver Award อีก 1 รางวัล
ตัวที่ขึ้นชื่อมากที่สุดและครองใจเหล่านักดื่ม ก็หนีไม่พ้น The Singleton of Dufftown 12 Year Old จากโรงกลั่น Dufftown ที่ตั้งอยู่ใน Speyside นอกจากนี้ The Singleton ยังมีซิงเกิ้ลมอลต์จากโรงกลั่น Glendullan และ Glen Ord ที่แต่ละโรงก็จะมีความพิเศษในเรื่องของรสและกลิ่นที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะ Glen Ord ที่อยู่ในภูมิภาค Highland ที่จะมีรสสัมผัสต่างไปจากอีกสองโรงกลั่น โดยซิงเกิ้ลมอลต์จากทั้งสามโรงกลั่นนั้นจะทำการตลาดแบบแยกภูมิภาคกัน ในประเทศไทยเราจะได้สัมผัสกลิ่นอายของ Speyside จากโรงกลั่น Dufftown ครับ
ทำไม Speyside จึงเป็นรสชาติ “พิมพ์นิยม” ที่ถูกใจนักดื่มทั่วโลก
สำหรับนักดื่มซิงเกิ้ลมอลต์แล้ว คงยากที่จะปฏิเสธว่าซิงเกิ้ลมอลต์ที่มาจาก Speyside นั้นมีเสน่ห์และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่น่าหลงใหล ทำให้รสสัมผัสของเขต Speyside กลายเป็นพิมพ์นิยมที่ถูกอกถูกใจใครหลายคนไปในที่สุด
สิ่งที่ทำให้ภูมิภาคนี้สามารถดึงดูดผู้ผลิตซิงเกิ้ลมอลต์ให้มาตั้งโรงกลั่นที่นี่เพราะแร่ธาตุที่ละลายอยู่ในน้ำนั้นมีปริมาณน้อยที่สุดในบรรดาเขตทั้งหมด ทำให้ได้น้ำบริสุทธิ์ในการกลั่น รวมไปถึงความอุดมสมบูรณ์ของดินที่ใช้ในการปลูกข้าวที่น้ำมาทำเครื่องดื่มมอลต์กลั่น ทำให้ได้เครื่องดื่มที่หอม นุ่ม ละมุน ดื่มง่าย เพราะรสชาติที่มีเอกลักษณ์ของมัน บวกกับความตั้งใจของคนในพื้นที่ที่อยากผลิตซิงเกิ้ลมอลต์ที่ดีที่สุดสู่ชาวโลก ความภาคภูมิใจของพวกเขา การหลอมรวมทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่สืบทอดกันมาเป็นเวลาราว 2 ศตวรรษ ทำให้ภูมิภาค Speyside กลายเป็นเมืองหลวงของเครื่องดื่มมอลต์กลั่นในยุคปัจจุบัน
หากใครที่กำลังมองหาซิงเกิ้ลมอลต์จาก Speyside ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของภูมิภาคที่อุดมสมบูรณ์ทั้งน้ำและดิน มีความนุ่ม ดื่มง่าย จับคู่กับอาหารที่หลากหลายเพราะรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ทั้งความเผ็ดร้อนจากเครื่องเทศ ความหวานจากดอกไม้ ผลไม้และน้ำผึ้ง กับกลิ่นหอมของหญ้า The Singleton เป็นแบรนด์ที่เราคิดว่าเป็น One of the Best ของ Speyside เหมาะกับทั้งมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มดื่ม และรุ่นเก๋าที่มองหารสชาติที่ยอดเยี่ยมจากถิ่น Speyside อันอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นตัว 12 15 หรือ 18 ปีก็ตาม
นอกจากจะสามารถสัมผัสรสชาติจากเขต Speyside ด้วยการดื่ม The Singleton ในรูปแบบซิงเกิ้ลมอลต์ทั้งแบบไม่ผสมอะไรเลย (Neat) หรือแบบใส่น้ำแข็งสักก้อน (On the rock) แล้ว ยังสามารถนำมาทำ The Singleton Plus Two ด้วยการนำ The Singleton ไปผสมกับเครื่องดื่มอีก 2 ชนิด ในปริมาณเท่า ๆ กัน (ปริมาณที่แนะนำคืออย่างละ 50 มล.) ก่อนเสิร์ฟในแก้วใส่น้ำแข็ง
Orchard (The Singleton + น้ำแอปเปิลหรือแพร์ + โซดา)
Snug (The Singleton + กาแฟ Cold Brew + โคล่า)
Tropical (The Singleton + น้ำฝรั่ง + Grapefruit soda)
Riverside (The Singleton + ชาเขียว + Ginger ale)
ช่วยสร้างรสสัมผัสใหม่ ๆ และยังสามารถนำไปจับคู่กับอาหารได้หลากหลายประเภทตามความชอบ
การเดินทางท่อง Scotland เพื่อรู้จักกับ ซิงเกิ้ลมอลต์ตามภูมิภาค ของ MenDetails ก็คงต้องจบลงเพียงเท่านี้ แต่สำหรับใครก็ตามที่ได้อ่านบทความนี้แล้ว เชื่อว่าน่าจะอยากสัมผัสรสชาติที่แท้จริงของแต่ละภูมิภาคขึ้นมาไม่มากก็น้อย ทำให้นี่น่าจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเดินทางสัมผัสรสชาติจากภูมิภาคต่าง ๆ เท่านั้น ส่วนใครที่เพิ่งเริ่มออกเดินทาง เราก็ขอแนะนำให้เริ่มที่รสชาติจาก Speyside แล้วจะเข้าใจว่าทำไมรสชาติของที่นี่ถึงครองใจใครหลายคนจนกลายเป็น “พิมพ์นิยม” ครับ